news

27 สิงหาคม 2020

“ทิพานัน”ตอก”พิจารณ์”กล่าวหาเลื่อนลอย

“ทิพานัน” ตอก “พิจารณ์” กล่าวหาเลื่อนลอย อย่าใช้จิตสัมผัส ปมกล่าวหามีการล็อบบี้ กมธ. ซื้อเรือดำน้ำ ย้อนแย้งบอกไม่เล่นประเด็นการเมือง แต่โหนกระแสอย่างหนัก

 

(27 สิงหาคม 2563) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2564 เชื่อว่ามีการเดินสายล็อบบี้ใน กมธ.จริง หลังนายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณมีความจำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำนั้น เป็นการให้ความเห็นที่ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 11 ที่ให้ยึดมั่นหลักการในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติใดๆ 

 

ทั้งนี้ เพราะการกล่าวหาว่ามีการล็อบบี้โดยใช้เพียง “ความเชื่อ” ของผู้พูดโดยไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ถือว่ามีอคติ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลงมติของกรรมาธิการท่านอื่นๆ เหมือนเป็นการตีปลาหน้าไซว่า กรรมาธิการที่โหวตให้ความเห็นชอบอาจเกิดจากการ “ล็อบบี้” ทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นพิจารณาตามหลัก กมธ. ดังนั้น นักการเมืองจะใช้เพียงความเชื่อหรือจิตสัมผัสใดๆ กล่าวหาผู้อื่นลอยๆ ไม่ได้ ควรหยุดผลิตซ้ำภาพจำแก่สังคม ว่าพรรคก้าวไกลมักกล่าวหาผู้อื่นลอยๆ โดยไร้ซึ่งพยานหลักฐาน 

 

“การให้ข่าวของพรรคก้าวไกลว่า ไม่นำประเด็นเรื่องเรือดำน้ำมาเป็นประเด็นทางการเมือง นั้นก็ย้อนแย้งกับการกระทำ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องออกมาให้ข่าวโหนกระแสใหญ่โต พร้อมๆให้ติดตามท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์” น.ส ทิพานัน กล่าวและว่า ในอำนาจของ กมธ. ชุดนี้ ก็มีหน้าที่พิจารณางบประมาณตามความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน หากเห็นว่าไม่จำเป็นก็ต้องตัดงบส่วนนี้ไป ไม่มีอำนาจโยกงบของหน่วยงานหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่งได้ และที่สำคัญในปีงบประมาณ 2564 การจ่ายเงินค่าจัดซื้อเรือดำน้ำมีจำนวนประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท เป็นการแบ่งชำระ ไม่ได้มีการจ่ายก้อนใหญ่ถึง 22,500 ล้านบาทตามที่มีการปั่นกระแสเพื่อโจมตี

 

ส่วนการชะลอการชำระเงินนั้น ทางกองทัพเรือได้เคยเจรจาทำไปแล้วเมื่อปีก่อน มีการนำเงิน 3,375 ล้านบาทส่งคืนให้รัฐเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาโควิดในปีงบประมาณ 2563 แล้ว จากการรับฟังคำชี้แจงจากกองทัพเรือเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นความจำเป็นในการรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศไทยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรือดำน้ำมีความโดดเด่นในหน้าที่การ “ป้องปราม” เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาภัยคุกคาม ซึ่งแตกต่างจากหน้าที่ปราบปรามของเรือรบที่จะกระทำหลังจากเกิดภัยขึ้นแล้ว 

 

นอกจากนี้ เรือดำน้ำมีฟังก์ชันสำคัญในป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามทางทะเลขึ้น เช่น ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ การลักลอบขนยาเสพติด ค้ามนุษย์ อาวุธเถื่อน โดยที่การมีอยู่ก็แสดงถึงแสนยานุภาพแล้ว เรือดำน้ำจะไม่มีใครมองเห็นว่าเรืออยู่ที่ไหนจึงสามารถสร้างความไม่มั่นใจกับผู้ต้องการคุกคามและยับยั้งภัยได้ ทุกคราวที่เรือดำน้ำไม่อยู่ที่ฐาน ศัตรูก็จะไม่รู้ว่ามันไปอยู่ที่ไหน ก็จะเกิดความกลัว ไม่กล้าคุกคามหรือเสี่ยงกระทำความผิด เรือดำน้ำจึงมีประสิทธิภาพในการป้องปรามการกระทำความผิด”สำหรับเหตุผลที่ว่าประเทศเพื่อนบ้านเรามี เราก็ต้องมีนั้น “ไม่ได้หมายความว่าเราอยากมีอยากได้” แต่มันหมายถึงว่าประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงมีแสนยานุภาพทางทะเลเพิ่มมากขึ้นในขณะที่เราย่ำอยู่เท่าเดิม เป็นการเพิ่มช่องว่างความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น เหมือนเราอยู่กับที่ไม่เดินหน้า คนอื่นก็แซงหน้าเราไปได้ อำนาจต่อรองของประเทศไทยก็ลดน้อยลงทันที ความจำเป็นต้องจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 เพราะประเทศไทยมี 2 ฝั่งพื้นที่ทะเล คือ ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แต่ละฝั่งต้องมีอย่างน้อย 1 ลำ เพราะไม่สามารถนำเรือดำน้ำมุดทะลุแผ่นดินข้ามฝั่งไปมาระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามันได้” น.ส. ทิพานัน กล่าว

 

ที่มา https://www.nationtv.tv/main/content/378792641/