‘วัดแก้วไพฑูรย์’ ย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี สถาปัตยกรรมล้ำค่ายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคที่ ‘หลวงปู่บุญ’ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นพระอธิการระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อคราวแรกสร้างเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง ขนาด 7 ห้อง ใช้การเข้าไม้แบบโบราณ หลังคาทรงจั่วลดชั้น มีชายคาปีกนก เครื่องบนประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ผนังเป็นไม้แบบฝาปะกนจำหลักลวดลายวิจิตรตระการตาจนงดงามเป็นที่โจษขาน ทั้งพันธุ์พฤกษา สัตว์วิเศษ สัตว์หิมพานต์ อีกทั้งสัญลักษณ์แฝงความหมายอันเป็นมงคลตามความเชื่อแบบจีนผสานแนวคิดอย่างไทย ดังที่ น. ณ ปากน้ำ นักปราชญ์แห่งสยามประเทศยกย่องว่าเป็น ‘เรือนไม้อันวิเศษ’ โดยมีผลงานชิ้นเอกคือภาพจำหลักไม้เล่าเรื่อง ‘สุธนุชาดก’ จากปัญญาสชาดก บริเวณมุมทั้งสองของกรอบหน้าต่าง เริ่มต้นที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ วนไปทางขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา รวม 44 ช่อง
เนื้อหาของชาดกเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระสุธนุ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การยิงธนู ต้องเผชิญอกุศลกรรมจากอดีตชาติที่เคยหยอกเย้าสามเณรด้วยการกระทุ่มน้ำเป็นคลื่น ซัดเรือจนล่มประสบความทุกข์ยาก ในชาติปัจจุบันจึงต้องเสวยทุกข์โดยพลัดพรากจากพระนางจิรัปภาผู้เป็นชายากลางมหาสมุทร เพราะเรือสำเภาแตกด้วยพายุร้าย สุดท้ายได้พบกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งมีภาพจิตรกรรมประดับภาพชีวิตตั้งแต่แรกพบ ครองรัก จนประสบเคราะห์กรรม จบเรื่องด้วยการกลับไปครองเมืองพร้อมชายาอย่างมีทศพิธราชธรรมสืบไป