Good News

31 พฤษภาคม 2021

COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้”

COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” เพื่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด

 

 

กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ชวนนักสูบใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 เป็นจุดเริ่มต้นการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้”

 

 

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “COMMIT TO QUIT” เพื่อให้ 180 ประเทศสมาชิกร่วมรณรงค์ผลักดัน

 


เชิงนโยบายและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ทุกประเภท รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเลิกบุหรี่ให้ได้ 100 ล้านคน สำหรับประเทศไทยได้กำหนดเป็นคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2564 ไว้ว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” และในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

 


พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ราย ในแต่ละวัน ซึ่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า เป็นพฤติกรรมเสี่ยง จากการสูบจะเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายและรับหรือสัมผัสเชื้อได้ และในขณะสูบก็ไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ ควันจากการสูบบุหรี่มีสารเคมีและความร้อน 800 องศาเซลเซียสจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง
ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 3 – 5 เท่า และหากมีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ถึง 14 เท่า

 

 

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีภารกิจหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทุกประเภท รวมถึงสุราและบุหรี่ ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่อาจจะดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 


แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น มีผลดี

 


ทั้งต่อตัวผู้สูบและคนใกล้ชิด ช่วยยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ปอด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของตนเองและบุคคลใกล้ชิด ร่วมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการุนแรงหากติดเชื้อ ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่มีหลายวิธี การรักษาด้วยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ ร่วมกับศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600 ในสถานบริการทุกระดับ ตลอดจน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)โดยให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลหรือร่วมกับการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน ยารับประทาน สมุนไพรหญ้าดอกขาว และทางเลือกอื่น ๆ ในส่วนของผู้ สามารถหักดิบเลิกได้ด้วยตนเอง เช่น ออกกำลังกาย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ดื่มน้ำ อมมะนาว เป็นต้น หากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือ ศูนย์บริการ
ช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600

 


***********************************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช.
-ขอขอบคุณ- 31 พฤษภาคม 2564