สปสช.-สบส.ประชุมร่วมกับ รพ.เอกชน กรณีการเบิกค่ารักษาโควิด-19 เผยใช้หลักการไกล่เกลี่ย หากผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการรักษาฟรี รพ.จะต้องคืนเงินให้ผู้ป่วย ระบุหลายเรื่องเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเกิดจากความเข้าใจผิด
วันนี้(19พ.ค.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานการประชุมกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศกว่า 300 แห่งเพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับกรณีโรคติดเชื้อโควิด19 และกรณี UCEP โควิด-19 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Meeting
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การประชุมชี้แจงกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่ง สปสช.จะมีประชุมดังกล่าวนี้เป็นระยะๆ เพื่ออัพเดทหลักเกณฑ์กติกาต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น สปสช.ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับโรงพยาบาลเอกชนมาโดยตลอดในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการเสริมภาครัฐเพื่อดูแลประชาชน
โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ และโรงพยาบาลเอกชนจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช. ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่ายที่ได้มีการกำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งในวันนี้ได้เน้นย้ำขอความร่วมมือไม่เก็บค่ารักษาพยาบาลจากประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนยินดีและพร้อมสนับสนุนรัฐบาล
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากประชาชน พบว่ามี 3-4 สาเหตุ ประกอบด้วย 1.สปสช.จ่ายเงินช้าทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนไว้ก่อน แต่ขณะนี้ สปสช.ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน ดังนั้นไม่ควรมีการเก็บเงินจากผู้ป่วยด้วยเหตุผลนี้อีก
2.เบิกค่าใช้จ่ายแพงกว่าหรือเกินกว่าอัตราที่มีการตกลงกับ สปสช.ไว้ กรณีนี้ต้องขอให้เก็บตามอัตราที่กำหนด /3.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่มีในประกาศ ประเด็นนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะพิจารณาขยายรายการจ่ายให้ และเมื่อขยายแล้ว สปสช.จะจ่ายเงินคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้นจึงไม่มีเหตุต้องเก็บจากผู้ป่วย
และ 4.กติกาเบิกจ่ายมีการเปลี่ยนแปล แต่ทางโรงพยาบาลตามกติกาไม่ทราบ เช่น เกณฑ์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นระยะๆ จากเดิมที่ต้องแสดงอาการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้แพทย์พิจารณา บางโรงพยาบาลไม่ทราบ จึงไม่ตรวจเพราะกลัว สปสช.ไม่จ่ายเงิน
“นี่เป็น 4 สาเหตุที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ตอนนี้แก้ปัญหาหมดแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาร้องเรียนเรื่องถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลนั้น ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับการรักษา ซึ่งเมื่อ สบส.รับเรื่องจากประชาชนและ สปสช.ที่ส่งเรื่องมา หลายเรื่องเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเกิดจากความเข้าใจผิด หลักการของทั้ง สบส. และ สปสช. คือใช้กลไกการไกล่เกลี่ยและดูข้อเท็จจริงว่าประชาชนมีสิทธิได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิหรือไม่ เมื่อไกล่เกลี่ยกันได้ก็คืนเงินให้ผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ก็ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ มีบางกรณีที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่ากำลังถูกเรียกเก็บเงินขณะที่กำลังรักษาโควิด19 เนื่องจากตามระบบของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจะมีการแจ้งอัตราค่ารักษาพยาบาลให้ทราบเป็นระยะๆ ซึ่งตรงนี้ สบส.ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือให้งดแจ้งค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่มีสิทธิได้รับการรักษาฟรีไปก่อน
สบส.ประกาศให้โควิด19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย และโรงพยาบาลเบิกค่ารักษากับ สปสช. ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด สามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายเพิ่มเติมแล้วจะคืนเงินให้เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว
โดยขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอเพิ่มเติมรายการเข้ามา 6-7 รายการ นอกจากนั้น สบส.ได้ปรับประกาศเป็นระยะๆ โดยเพิ่มบางรายการเพื่อสนับสนุนการทำงานของเอกชนมากขึ้น
“โรงพยาบาลเอกชนให้ความร่วมมือในการรับมือกับโรคโควิด-19 เป็นอย่างดีมาตลอด ซึ่ง สบส.ก็พยายามดูแลเอกชนเพื่อสนับสนุนให้ท่านทำงานได้สะดวกขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล ถ้าท่านดูแลผู้ป่วยแล้วติดเชื้อโควิด-19 ท่านจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่แทนภาครัฐในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ท่านจะได้รับการดูแลปกป้องเช่นกัน ขณะนี้ สบส.กำลังดำเนินการในเรื่องนี้” นพ.ธเรศ กล่าว
โดยการประชุมชี้แจงกับโรงพยาบาลเอกชนในวันนี้ ครอบคลุม 4 ประเด็นคือ 1.เน้นย้ำประเด็นสำคัญ การขอรับค่าใช้จ่ายค่าตรวจคัดกรอง การตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด19 / 2.ทำอย่างไรสถานพยาบาลจะพิสูจน์ตัวตนประชาชนผู้รับบริการผ่านระบบ Smart card โดยใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดได้อย่างสะดวก / 3.ทำความรู้จักกับโปรแกรม e-Claim เพื่อบันทึกขอรับค่าใช้จ่ายการตรวจทางห้องปฏิบัติ และบริการอื่นๆ กรณีโรคโควิด-19 / และ 4.ค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEP-COVID) สำหรับการดูแลกรณีโรคโควิด-19 โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่สอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษา การบันทึกเพื่อขอรับค่าใช้จ่าย และมีข้อเสนอแนะให้ปรับประกาศบางข้อให้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น